สงวนสิทธิ์มิให้นำเนื้อหาในบล๊อกไปใช้กระทำเพื่อการจำหน่าย ยกเว้นการนำไปใช้เพื่อการศึกษาและโปรดให้เครดิตเจ้าของผลงานด้วยค่ะ

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เขียนสร้างรายได้ได้จริงหรือ

เขียนสร้างรายได้ได้จริงหรือ





บางคนอาจจะกังวลว่า  งานเขียนทุกวันนี้ยังจะมีคนอ่านเหรอ คนไม่ค่อยชอบอ่าน  เขาหันไปดูคลิปวิดีโอกันหมดแล้ว 


ไม่จริงค่ะ  คนอ่านไม่ได้ลดน้อยลง แถมอาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ  ในยุคที่คนใช้ออนไลน์กันมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของออนไลน์  การเรียนออนไลน์  การประชุมต่าง ๆ การส่งข้อมูลข้อความหรือตัวอักษรนั้น  ยังคงได้รับความนิยมอยู่  และจะยังคงมีแนวโน้มอยู่กันอีกนาน  


ยิ่งโดยเฉพาะยุคนี้นะคะ  การอ่านยิ่งทวีมากขึ้น  เราอาจจะมองการการเป็นเรื่องของกลุ่มคนรักงานเขียนเล็ก ๆ  แต่จริงแล้ว  คนทั่วไป ก็สนใจการอ่านไม่น้อย  ยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการ ความสนใจ  เช่น การซื้อของออนไลน์  นอกจากดูคลิปแล้ว  การเขียนข้อมูลสินค้าให้ลูกค้าได้อ่าน ได้ค้นดูคุณสมบัติของสินค้าได้  ก็ยิ่งทำให้สินค้านั้นมีความน่าเชื่อถือ  บางคนก็อาจจะยังไม่มีเวลาการการพิจารณาดูในขณะนั้น  ก็อาจกลับมาอ่านดูข้อมูลในตอนหลังได้


นวนิยายที่เราอ่านกัน  ก็เป็นสิ่งที่คนยังนิยมอ่าน  และหลงใหลได้ปลื้มกับเนื้อหาและตัวละครอยู่  เพราะเมื่อเราอ่านฉากและตัวละครในจินตนาการขณะอ่านมันบรรเจิดยิ่งกว่าการสร้างเป็นละคร  เราจะสร้างจินตนาการของเรา  ให้ดีพิสดารเพียงไหนก็ย่อมได้


บทความการท่องเที่ยว  อาหาร  การเลี้ยงลูก สัพเพเหระ ก็ล้วนแล้วแต่ยังคงเป็นที่ต้องการนะคะ  เพียงแต่รูปแบบงานเขียนต่าง ๆ  มีการพัฒนาออกไป ไม่ได้อยู่แค่เพียงแค่นิตยสาร  หรือหนังสือเล่มเพียงเท่านั้น  แต่ยังอยู่ในทั้่วทุกพื้นที่ของแพลตฟอร์มตามอินเตอร์เน็ต


ยังมีคนอีกมากต้องการข้อมูลเพื่อตอบคำถามตัวเอง ถ้าข้อมูลหรือบทความ หรือสิ่งที่เราเขียนตอบโจทย์คนเหล่านั้นเขาก็จะยิ่งไขว่คว้าตามหาผลงานของเราค่ะ


เขียนไปแล้วจะขายได้เหรอ

ขายได้ค่ะ  ทุกวันนี้คนเราใช้อินเตอร์เน็ตนะคะ  อย่าลืมว่า การเผยแพร่ข่าวสารโฆษณามันจะไปเร็วมาก การใช้โซเชียลต่าง ๆ ที่เราใช้ๆกันอยู่ช่วยเราขายได้มากที่เดียวค่ะ


รายได้จากการเขียนได้มายังไงบ้าง

รายได้จากการเขียนมีหลายทางค่ะ  เมื่อเขียนเสร็จแล้ว  ก็ทำดังนี้ค่ะ


ส่งสำนักพิมพ์ให้พิจารณา  ถ้าผ่านหลักเกณฑ์ก็ได้ตีพิมพ์  


ทำอีบุ๊ค (  E-Book) ง่ายขึ้นมาอีก ลงขายได้หลายเว็บเลยนะคะ  ผ่านการพิจารณาได้เร็ว  ขายได้ทั้งฝากขายที่เว็บขายหนังสือ  หรือขายเอง  


ขายบทความ   หรือรับเขียนบทความตามความต้องการของลูกค้า  มีบางเพจ  บางเว็บไซต์  หรือแม้กระทั่งองค์กรต่าง ๆ รับผลงานเขียนนะคะ บางที่เขาอาจจะไม่มีคนที่สามารถเขียนได้  ก็ต้องอาศัยนักเขียนนั่นแหละค่ะ  บางครั้งบางที่เขาก็ต้องการบทความที่ธรรมดาไม่หรูมากเพื่อเผยแพร่งานหรือข่าวสาร  หรือสร้างแบรนด์  อาจไม่ต้องใช้นักเขียนที่ดัง ๆ แล้วต้องจ่ายแพง ๆ  นักเขียนอิสระโนเนม  นักเรียนนักศึกษาก็ทำได้

 

โกสท์ไรท์เตอร์ (Ghost Writer) หรือผู้เรียบเรียง  รับจ้างเขียนหนังสือให้กับคนที่ไม่มีเวลา  แต่ต้องการทำหนังสือเพื่องานหรือกิจกรรมบางอย่าง  หรือแม้กระทั้่งขายเอง  โดยผู้ว่าจ้างจะมีเค้าโครงเรื่องที่ต้องการมาให้เรา  แล้วเราบรรดานักเขียนผู้มีความชำนาญกว่า ก็เป็นผู้เรียบเรียงให้ภาษาดูดีมีราคาขึ้น 


ทำหนังสือทำมือ    ทำเอง  ขายได้ทั้งอีบุ๊ค  ปริ๊นซ์ทำเล่มเอง หรือพิมพ์ในจำนวนน้อยๆในบางโรงพิมพ์ก็รับทำนะคะ  และบล็อกนี้เน้นให้ข้อมูลด้านนี้ค่ะ  ทำเองอ่านเอง 😁


เขียนบล็อค  เพื่อเป็นผู้เผยแพร่โฆษณา  มีรายได้จากคนเข้ามาอ่านบล็อกของเรา  แล้วสนใจโฆษณาในเว็บบล็อก  เราก็จะมีรายได้  ถ้าเราทำบล็อกดี  มีเนื้อหาน่าสนใจ  คนก็เข้าเยอะ  เมื่อคนเข้าเยอะก็มีโอกาสคลิกโฆษณาเยอะ  เหมือนแอ๊ดมินใจดีทำอยู่นี่แแหละจ้า

แต่อย่าคิดปั่นโฆษณาเองนะจ๊ะ  เขาจับได้แน่นอน  บล็อกเราจะปลิวเชียวหนา  ซื่อกินไม่หมดคดกินไม่นานนะคะ อดทนนะ  อดทน ทำให้ดี  ใครๆ เขาก็อยากได้สิ่งดีๆ เราทำดี อะไรที่ว่าดีมาหาเราเองจ้า


และยังมีอีกหลายช่องทางเลยนะคะ..หมั่นมาติดตาม  กดไลค์กดแชร์ให้กำลังใจก็เป็นสุข  และมีกำลังใจทำสิ่งที่รักต่อไปได้อีกนานๆ ค่ะ



วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ชีทสรุปการศึกษาชีววิทยาและวิธีการทางวิทยาศาสตร์

               อะไรที่เกี่ยวกับงานเขียนงานอ่านงานสรุป  ถ้ามีประโยชน์ต้องจัดมาลงทุกอย่างแน่นอนค่า ทุกระดับความรู้และการเรียนรู้เลย  

               การทำเล่มหนังสือแฮนด์เมด  อีบุ๊คต่างๆ  ไม่มีลืมไม่เลิกสรรหามาฝากคนที่ชอบเหมือนกันแน่นอนค่ะ  เพียงแต่บางทีต้องเตรียมวัตถุดิบ  เทคนิค วิธีการ  และเรียบเรียงอยู่  ขอเวลานิดนะคะ             

            ตั้งใจว่าจะหาเรื่องราวดีๆ  มาโพสฝากกันทุกวันระหว่างที่รองานเรียบเรียงนะคะ  อยากเขียนเรียบเรียงดีๆค่ะ  ผู้อ่านจะได้มีข้อมูลไว้ค้นตลอดเวลา ถือว่าที่นี่เป็นโลกของข้อมูลการทำหนังสือ และสื่อเพื่อการเรียนการศึกษา  เพื่อเป็นวิทยาทานส่วนหนึ่งแบ่งปันกันและกันนะคะ  


ชีทสรุปวิชาชีววิทยา ม.4 ที่น้องกวางสรุปเพื่ออ่านสอบ  โควิดการศึกษาก็จะช้าๆไปหน่อย  

ก็อะลุ่มอล่วยกันไปจ้า




หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างนะคะ  ส่งต่อให้ลูกๆ หรือเพื่อนส่งให้กันเลยค่า



วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เริ่มเขียนเมื่อไหร่ดี..ตอนนี้บอกเลย




เรียนมาก็มากแล้วยังเขียนไม่ได้เลย  ทำไงดีๆ  เขียนที่ไหน  ใช้อะไรดีสร้างงานเขียน

คำตอบคือ  เริ่มทันที! กับสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้  


อย่ามองหาสิ่งอื่นใดให้สิ้นเปลืองค่ะ  ตอนนี้ถ้าคุณมีกระดาษปากกา  นึกอะไรได้จดค่ะ  

ถ้ามีเวลาเขียนต่อ  ทำตามคำแนะนำที่ผ่านมาเลยค่ะ  เขียนด้วยลายมือใส่สมุด  อ่านๆ แก้ ๆ 

หากได้ที่แล้ว  ถ้าเรื่องมันยาว  เยอะพอทำเล่มได้  จ้างร้านพิมพ์ค่ะ  เอาไฟล์ไว้โพสในที่ที่เราต้องการ  

หรือเอามาแปลงไฟล์เพื่อทำอีบุ๊คได้เลยค่ะ  ถ้าไม่มากเราก็ค่อยไปจัดพิมพ์เอง 

โพสเองในโซเชียลที่เราถนัด


ถ้ามีมือถือบันทึกโน้ตได้เลยค่ะ  แล้วค่อย ๆ คิดทำตามขั้นตอนที่แนะนำไว้  จิ้มเลยค่ะ  พิมพ์เลยค่ะ  

ถ้าอ่านทบทวนแล้วโอเคก็ลองโพสลงเฟชบุ๊คดูค่ะ  อย่ากลัวคนไม่อ่านและมาตำหนิเรา  

เพราะผู้เขียนก็เคยเขียนแล้วมีคนมาเม้นท์ว่าอ่านไม่รู้เรื่องเหมือนกันค่ะ   

ฮ่า    ๆ   แคร์ไย


ถ้าพอไหวลงโน้ตบุ๊คที่เราใช้งานธรรมดา ๆ ที่ผู้เขียนใช้ก็ธรรมดามากค่ะ  

ถ้าเราทำงานเขียนออนไลน์ด้วย  แบบเขียนในบล็อกสำเร็จรูปนี่ง่ายค่ะ  

เขามีแพลตฟอร์มมีฟังก์ชั่นให้เราเยอะแยะมาก เว็บฟรีมากมายและก่ายกอง ค่อย ๆ เรียนรู้ทำไปค่ะ  


มือถือเก่าๆ ง่าย ๆ ค่ะ ไม่ต้องไอพ่นก็ทำหนังสือได้ เมื่อเราพร้อมเราค่อยจัดหาใหม่ๆ 

ให้รางวัลตัวเอง  ได้ใช้เครื่องมือดีๆ สร้างสรรค์งานดี ๆ นะคะ  อย่าคิดถึงอะไรตอนนี้


ก็อยากเขียน  อยากมีผลงานไว้ภูมิใจ ก็รั้นจะเขียนซะอย่าง

ไม่รอจังหวะอะไรทั้งนั้นค่ะ  ว่างแล้ว  ลุย!     





วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ขั้นตอนการเขียนแบบง่าย

            



            มีหลายคนกังวลและไม่มั่นใจที่จะเขียน กลัวว่าเขียนไปจะไม่มีคนอ่าน  กลัวว่าถึงมีคนอ่านงานเราแล้ว  คนอ่านจะงง  เพราะไม่มั่นใจในการเรียบเรียงคำ หรือเนื้อหา  บางคนที่คิดว่าตัวเองเขียนแล้วอ่านเองยังวกไปวนมา  นั่นเพราะว่าเราเขียนแบบไม่มีเป้าหมาย  นึกอยากจะเขียนก็เขียน  อยากเขียนทุกเรื่อง  ใจร้อนอยากเขียนเยอะๆ  จนประเด็นมันแตกกระจายยิบย่อย  คนอ่านก็งงว่าเขียนเรื่องอะไรกันแน่ เอาอย่างนี้นะคะ


เรื่องที่เขียนควรเป็นอย่างไร

เมื่อได้เรื่องที่จะเขียนแล้ว  ให้มามองดูงานที่เรากำลังตั้งใจจะเขียนว่า..

1.  เป็นงานที่มีคุณค่า  มีประโยชน์ต่อคนอ่าน  เช่น  เมื่ออ่านจบแล้วมีความสุขใจ  ได้หัวเราะ  ได้แนวคิดในการดำเนินชีวิต  หรือแม้กระทั่งอาชีพ  อย่างใดอย่างหนึ่งก็พอ ค่อยๆใส่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ให้แก่คนอ่าน  ทีละอย่างสองอย่าง ไม่ต้องรีบอัดแน่นนะคะ

2.  ตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้คนอ่านได้  มีแนวทางในการแก้ปัญหา  มีวิธีให้คนอ่านเลือกตัดสินใจ เลือกวิธีแก้ปัญหาได้จริง   ซึ่งอาจจะได้มากน้อยนั้นไม่ต้องกังวล  บางคนเมื่อเขาอ่านแล้วอาจจะรู้สึกว่าได้วิธีมาก   บางคนอาจจะบอกว่าได้น้อย  เราก็ไม่ต้องกังวลค่ะ  ขอให้มอบสิ่งดีดีให้เขาให้เต็มที่ของเราก็พอ


ขั้นตอนการเขียนแบบง่าย

            ส่วนใหญ่หลายคนที่เริ่มเขียนหนังสือใหม่ ๆ รวมทั้งนิยาย นวนิยาย เรื่องสั้น  บทความที่ให้ประโยชน์  ความรู้ หรือบันเทิงคดี  แม้แต่บทกลอนนะคะ  ไม่รู้จะเริ่มยังไง  เดินเรื่องไปทิศทางไหน  จะจบยังไง เอาเทคนิคขั้นตอนการเขียนแบบคิดย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นลองดูนะคะ  

            1. สร้างภาพตอนจบ  หรือบทสรุปตอนจบของเรื่อง 

            นั่นก็คือ  ให้เราลองสร้างบทสรุป  หรือตอนจบของเรื่องค่ะ ว่าต้องการให้เรื่องที่เรากำลังจะเขียนจบอย่างไร เช่น  จะให้มีภาพเยอะๆ  มีคำคมเยอะๆ ไหม สรุปว่าอย่างไร  มีสาระอะไรที่คนอ่านจะได้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้


            2. วางโครงสร้างเรื่องราว      วางโครงสร้างเรื่องที่เขียนไว้เป็นภาพรวมๆเอาไว้ว่า  ในเล่มเราจะให้มีเนื้อหาอะไรบ้าง  เช่น

            - การจัดหมวดหมู่  สารบัญเรื่อง อะไรมาก่อนมาหลัง

            - ใส่เนื้อหา  เขียนไปตามลำดับที่เรียงไว้  ถ้าเป็นประเภทนิทาน   นิยาย  ก็เหมือนกันค่ะ  วางโครงเรื่อง  และลำดับเหตุการณ์หลัก ๆ เอาไว้  อาจจะใส่เหตุการย่อย ๆ ไว้ก็ได้  เมื่อเริ่มเขียนเรื่องมีอะไรเพิ่มเติมที่คิดว่าน่าสนใจ อยากเติมเต็มก็ใส่เข้าไปได้เรื่อย ๆ ตามจังหวะ

            - อ่านทบทวน  ควรอ่านทบทวนแบบเน้น ๆ ด้วยนะคะ  แนวคิดเราเองอาจเปลี่ยนได้ตลอดเวลา และขั้นตอนนี้เรายังสามารถเติมแนวคิดได้เสมอ    สามารถลบหรือเปลี่ยนจนกว่าจะลงตัวที่สุดได้ 

            เพียงอย่าใจร้อนว่าเรื่องราวหนึ่ง ๆ หนังสือเล่มหนึ่ง ๆ  จะต้องเสร็จในวันสองวัน  นวนิยายบางเรื่องหลายปีนะคะ  ใจเย็นและค่อยๆ เรียงลำดับการทำการเขียนนะคะ

           

            เรื่องราวที่แบ่งปันมานี้  ถ้าคุณๆ ที่เข้ามาอ่านเจอก็สามารถศึกษากันได้แบบฟรีๆ  ผู้เขียนมั่นใจได้ว่าเมื่อลองลงมือทำตามขั้นตอนนี้ คุณๆ จะเขียนได้แน่นอนค่ะ  แต่ถ้ายังอยากเก็บเกี่ยวเทคนิคเพิ่มเติม  ผู้เขียนได้เขียนลงรายละเอียดเพิ่มไว้เป็นหนังสืออิเลคทรอนิกส์ (E-Book)  ไว้ ในราคาจับต้องได้ในเร็วนี้นะคะ

         

           คราวหน้าจะพาไปทำหนังสือส่วนตัวเล่มเดียวในโลก แบบเบาๆ  เอาไว้ทำเอง  พาลูกทำ  พาลูกศิษย์ทำ  ปักหมุดรอเลยจ้า!

            ขอบคุณที่ติดตามนะคะ  กดไลค์  กดแชร์  คือกำลังใจ อุดหนุนกันไปคือพลังงงาน

 


วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2563

วิธีการพิมพ์ด้วยเสียง

 

หยุดความเมื่อยล้าของมือจากการจิ้มๆ พิมพ์ๆ มาพิมพ์ด้วยเสียงกันเถอะ

 

หลายคนพิมพ์บทความหรืออะไรที่เกี่ยวกับการพิมพ์ไปสักพัก ก็เกิดอาการนิ้วล็อค  หรือบางคนพิมพ์ช้ามากไม่ทันใจ พิมพ์ก็ช้า  แล้วยังเสียเวลาหาตัวอักษรอีก  ทั้งงานก็เร่ง ๆ มาพิมพ์ด้วยเสียงอาจช่วยได้บ้างนะคะ  มาลองดูค่ะ

 

ต้องขอบอกว่าคุณลักษณะนี้มีให้ใช้งานเราสามารถพิมพ์และแก้ไขโดยการพูดใน Google  Docs ในเบราว์เซอร์ Chrome เท่านั้นนะคะ

วิธีพิมพ์ด้วยเสียง

ขั้นตอนที่ 1: ตั้งค่าเปิดไมโครโฟน
คอมพิวเตอร์  หรือโน้ตบุ๊คบางรุ่น อาจต้องงตั้งค่าก่อน  ส่วนใหญ่ในโน้ตบุครุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ก็มีไมค์ในตัวหมดแล้วนะคะ   ใช้ไมค์อัดเสียงที่เราเอาไว้ไลฟ์สดก็ได้ค่ะ

                                        

ขั้นตอนที่ 2: ใช้การพิมพ์ด้วยเสียง

ไปที่      docs.google.com 

ทำการ login เข้าสู่ระบบ เปิดเอกสารใหม่  

เลือกที่เมนู เครื่องมือ  เลือก พิมพ์ด้วยเสียง   จะปรากฎไอคอนไมค์สีดำ แล้วคลิกที่ตัวไมค์ 1 ครั้ง  ไมค์จะเปลี่ยนเป็นสีแดง แล้วก็บันทึกเสียงพูดเลยค่ะ  เสียงจะถูกแปลงเป็นตัวอักษรให้เราค่ะ   


ดูตัวอย่างตามคริปนี้เลยนะคะ




 ขอคั่นเวลาจ้า   เดี๋ยวพรุ่งนี้มาต่อ ขั้นตอนการเขียนและเทคนิค และเทคนิคการเขียนเล็ก ๆ น้อยๆนะคะ

ก่อนเข้าสู่การทำหนังสือเล่มเล็กและอีบุ๊ค  ไปกันเรื่อๆ ยาวไปจ้า  

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"ปมในใจฉันใหญ่เกินจะเขียนมัน"

             


               หลายคนที่อยากจะเขียน  แต่ก็ลงมือไม่ได้สักที  หลายคนมีทั้งพรสวรรค์ และความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัว  แต่มีสิ่งหนึ่งที่สะกัดกั้นเราเอาไว้ไม่ให้เราได้ทำสิ่งที่อยากทำสักที  มันคอยสะกดเราอยู่ นั่นก็คือ  "ความกลัว"


            "ความกลัว"  ฟังดูเป็นปมใหญ่  แต่แท้จริงแล้ว  ความกลัวถูกสร้างขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของกลใจในจิตใจมนุษย์  เพื่อเป็นสิ่งปกป้องเรา  ให้เรารู้ระวังตัวไม่ประมาทเกินไปเท่านั้น 

            และเป็นเรื่องปกติ ที่ความกลัวเป็นตัวทำให้เราขาดความมั่นใจ ไม่แน่ใจ  กังวล  ความกลัวลักษณะนี้มีอยู่เป็นปกติ   ขจัดได้โดยการวิ่งชน  หรือแกล้งเป็นลืมมัน  มองไม่เห็นมันซะ  เสมือนมันไม่มีตัวตน


            ถ้าคุณเคยมองผ่านใครสักคนด้วยเหม็นขี้หน้า  ไม่อยากเสวนา  และไม่เคยทักทายเขาเลยในทุกเช้า ที่โรงเรียน  มหาวิทยาลัย  หรือที่ทำงาน  ทั้งที่เรารู้ว่า เขาคนนั้น คนที่เราเกลียดขี้หน้าอยู่ใกล้แค่ไหน

เราก็แค่ปฏิบัติกับ "ความกลัว"  ของเราแบบนั้น


และนี่คือเหตุผลของความกลัว

"ฉันไม่มีความรู้เรื่องที่จะเขียน"  

            ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีความชำนาญ  หรือมีความรู้ไม่ลึกมาก  แต่เราสามารถค้นคว้าได้  แหล่งเรียนรู้มีอยู่มากมาย  โดยเฉพาะทุกวันนี้ห้องสมุดดี ๆ ที่มีหนังสือหลากหลายครบครัน  อยู่บนจอสี่เหลี่ยมที่บ้าน  ที่เราสามารถพกพาไปได้ทุกที่ แน่นอน "โลกอินเตอร์เน็ต"  เราค้นหาความรู้ในนั้น  และคนอ่านของเราก็อยู่ในนั้นด้้วยนะ


"ฉันไม่มีเวลา"

            งานเขียนนั้นเป็นงานที่ลงทุนด้านทุนทรัพย์ต่ำ  แต่ให้คุณค่าสูง  งานเขียนของคุณอาจจะช่วยใครบางคนได้  ช่วยคนมากมายได้  และสร้างรายได้ให้ตัวคุณเอง  งานเขียนอย่าให้เวลามากำหนดเรา  ให้เราเป็นฝ่ายกำหนดมัน

            งานเขียนสามารถเขียนได้ทุกที่  และเมื่อคุณเขียนไม่เสร็จ  คุณสามารถหยุดและรอเวลาที่พร้อมจะสานต่อเมื่อไหร่ก็ได้  เขียนครั้งละสิบเรื่องพร้อมกันก็ได้  หนังสือเล่มหนึ่ง ๆ ไม่ได้เสร็จในวันเดียวอย่างที่เราไปซื้อมาหรอกนะคะ  มันใช้เวลา  ดังนั้นเขียนสะสมได้เรื่อย ๆค่ะ  ลงมือเลย!


"ความรู้ไม่มากพอ ฉันเรียนไม่สูง จะเขียนให้ใครเขาเชื่อ"

            ไม่มีคนทั้งหมดที่ไหนจะมาเชื่อเราทุกคน  เราไม่ได้เขียนให้คนทั้งหมดบนโลกนี้อ่าน  เราเขียนให้คนที่อยากรู้  ให้คนที่เขารู้น้อยกว่าเราอ่าน  อย่ากังวลว่าใครจะมาตำหนิงานของเราว่าไม่ดี  ไม่เก่ง  เขียนเหมือนเด็กประถม  ถึงเราจะเขียนเหมือนเด็กประถม  นั้นเพราะเราเขียนใให้อนุบาลอ่านได้ 

            อย่าให้ความกลัว  ความกังวลใจในคนอื่นจะมีผลต่อเรา แกล้งลืมคำพูดเหล่านั้นซะ  อย่าให้คำพูดใครมาสะกัดกั้นความคิดเรา  โดยเฉพาะคำพูดจากความคิดของเราเอง..


"ฉันไม่มีความรู้เรื่องที่จะเขียน"   -  เราค้นคว้าเพิ่มเติมได้

"ฉันไม่มีเวลา"  -  เขียนสะสมได้  นึกออกค่อยมาเขียนต่อ

"ความรู้ไม่มากพอ ฉันเรียนไม่สูง จะเขียนให้ใครเขาเชื่อ"  -  เราเขียนให้คนอ่อนกว่าเราอ่าน


ตัดปมความกลัวเหล่านี้ออกไแล้วลงมือเขียน..ลองดูจ้า  



วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เขียนอะไรดี! เริ่มตรงนี้จ้า!

        ชิมน้ำไปแล้ว  ไม่อร่อยก็ปรุงเพิ่มนะคะ  มาค่ะ มาทานเนื้อกัน 



เราจะเริ่มเขียนหนังสือได้อย่างไรเริ่มยังไงดี

        1. หาเรื่องค่ะ หาเรื่องมาเขียนนะคะ ไม่ใช่หาเรื่องหาราวใคร😁

การที่เราจะเริ่มต้นเขียนหนังสือ ต้องมีเรื่องราว เนื้อหาที่อยากถ่ายทอดก่อนจ้าหรือเรื่องที่เรารู้ เราสนใจอยากจะเล่าให้คนอ่านฟังการเขียนในช่วงแรกๆนั้นเราควรเขียนเรื่องที่เรารู้ดีและถนัดที่สุดค่ะ หรือเรื่องที่เราอยากเขียน

 

ยกตัวอย่าง เช่น  เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเราเอง  ความชอบส่วนตัว  สิ่งทึ่ชอบทำ เป็นต้น

คนชอบเที่ยวเขียนเรื่องเที่ยว บรรยายสถานที่ท่องเที่ยว แนะนำการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร ค่าใช้จ่าย

คนชอบทานเขียนรีวิวร้านอาหาร ราคา รสชาติ ความประทับใจ     

ถ้าหากเราเป็นนักลงทุน หรือคนที่หารายได้เสริม ก็อาจเขียนแนะนำอาชีพที่สร้างรายได้

อื่นๆ

 

ถ้าอยากเขียนเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับที่เราชอบเราทำอยู่ล่ะ อยากเขียนนิยาย  นวนิยายลองดูบ้าง คำตอบคือ  เขียนได้อยู่แล้ว  เพียงเรามีจินตนาการ  เราอยากสร้างพระเอกนางเอกแบบไหนเราก็สร้างได้

 

        นั่งเขียนเรื่องที่เราคิดว่าจะเขียนลงในโน้ตดูค่ะ  เขียนมาเยอะๆ เลยค่ะ  หลายๆหัวข้อ  แล้วค่อยเลือกเรื่องที่น่าจะถนัดและเขียนได้เร็วที่สุดมาก่อนเลย  แล้วเขียนเลยจ้า

       

         2. คนอ่าน  ใครคือคนอ่าน

 เขียนแล้วจะมีคนมาอ่านงานที่เราเขียนไหมหนอ  คนกลุ่มไหนหนอจะมาอ่านงานเรา

       ตรงนี้เราลองมากำหนดกลุ่มคนอ่านของเราให้แคบลงเจาะลงไปเลยว่า  เรื่องที่เรากำลังเขียนนี้เราตั้งใจจะเขียนให้ใครอ่าน  เราจะได้ตีกรอบความคิด  และคาดเดาความคิดกลุ่มเป้าหมายได้ว่า  คนอ่านอยากรู้อะไร  สนใจอะไรอยากได้อะไรจากการเขียนของเรา  เราจะได้เขียนสิ่งเหล่านั้นเพื่อคนอ่าน

 

คนอ่านก็จะหาข้อมูล หรือสนใจเรื่องที่เขาอยากรู้   เช่น  คนขายส้มตำ อาจจะอยากรู้สูตรส้มตำรสแซ่บที่หลากหลายเพื่อทำเมนูใหม่ๆ มาคอยบริการลูกค้า  คงไม่เข้ามาอ่านวิธีการเขียนเพื่อทำหนังสือ 

 

นอกเสียจากว่าวันหนึ่งแม่ค้าส้มตำ  อยากจะแบ่งปันเรื่องราวของเขา  หรือขายสูตรอาหาร เขาอาจจะเข้ามาอ่านวิธีการเขียนนี้

 

อย่าลืมนะคะว่า  เรื่องที่เราเขียนได้ดีที่สุด  ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการอ่าน และเรื่องที่แย่ที่สุดของเรา  อาจเป็นเรื่องหรือสิ่งที่คนอ่านบางคนอยากรู้ก็ได้ ดังนั้น ถ้าอยากเขียน 

 

เขียนเถอะค่ะ อย่ากังวล

 

       ตั้งเป้าหมายกำหนดกลุ่มเลยค่ะ..

ว่าเรื่องที่กำลังเขียนนั้นเขียนเพื่อใคร กลุ่มไหน

เช่นเรื่องการเลี้ยงเด็ก  กลุ่มเป้าหมาย ก็คือคุณแม่  คุณครูเนอรสเซอรี่ 

การเลี้ยงไก่  คือ  กลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงไก่  หรือคนที่อยากทำอาชีพเลี้ยงไก่

แนะนำอาชีพ  กลุ่มคนว่างงาน หรือ คนที่ต้องการหารายได้เสริม  เป็นต้น

 

 

    3.    เนื้อหาสาระที่คนอ่านอยากอ่าน

 ถ้าอยากให้กลุ่มที่เราตั้งเป้าหมายไว้อ่านงานเขียนของเรา  ต้องทำสิ่งนี้

         เมื่อได้เรื่องที่จะเขียนแล้ว เรื่องที่เราจะเขียนนี้ ให้ลองสมมติเราเองเป็นคนอ่านค่ะ ว่าถ้าเราเป็นคนอ่านผู้อ่านต้องการรู้อะไรกับเรื่องที่เราเขียน และเราจะให้อะไรกับผู้อ่านได้บ้าง

 

        แต่ถ้าเราต้องการมีรายได้จากการเขียน หรืออยากเขียนเพื่อช่วยคน  เราต้องนึกเสมอว่าเราจะเขียนคุณค่าให้คนอ่าน เขียนสิ่งที่คนอ่านอยากรู้  และสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนอ่าน

 

          บีบวงแคบของเรื่องที่เขียนลงมาที่การกำหนดประโยชน์ 

และคุณค่าของเรื่องที่เราเขียนเพื่อคนอ่านให้ได้มากที่สุด  ในการเขียนเรื่องแต่ละครั้ง 

จะเป็นประโยชน์ต่อเราเองด้วย  ตรงที่เรื่องราวจะไม่ออกนอกคุ้งน้ำสู่ทะเล  

คุมกรอบแนวคิดอย่าให้ฟุ้งกระจาย เอาทีละประเด็น เจาะทีละประเด็นนะจ๊ะ

 

อย่าลืมนะคะ  1.เรื่องที่จะเขียน

                       2.ใครคือคนอ่าน

                        3. คนอ่านอยากรู้อะไร


ตอนต่อไป   "ปมในใจฉันใหญ่เกินจะเขียนมัน"  

เราจะแก้ปมที่ทำให้เราเขียนไม่ได้กันนะ

 



แม่เองก็ไม่เก่งหรอลูก  แต่ไม่กลัวที่ทำ  ลุย!   



วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อยากเขียนหนังสือสักเล่ม จะเริ่มต้นยังไงดีนะ




อยากเขียนหนังสือสักเล่ม  จะเริ่มต้นยังไงดีนะ 


คำถามแรกสำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียน  อยากเขียนเป็น  อยากเขียนได้  

อยากทำหนังสือ  ทำยังไง  ต้องเริ่มยังไงดี ..


หลายคนที่เริ่มงานเขียนใหม่ๆ ก็มักมีคำถามนี้วนๆ เวียน ๆ ในสมอง

ให้ว้าวุ่น วุ่นวายอยู่อย่างนี้  แม่ก็ด้วย ฮ่า ๆ 


ท้ายที่สุดเมื่อความอยาก  ความปรารถนา มันพลุ่งพล่าน ก็ยังหาทางไม่เจอ ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงดี

ขอบอกด้วยประสบการณ์เลยค่ะว่า


นอกจากจะอ่านศึกษาวิธีเขียนเพิ่มเติมแล้ว...

หาที่เรียนเลยค่ะ  เรียนกับนักเขียนที่เขาเปิดคอร์สสอนทั้งแบบเรียนแบบพบปะ

และ/หรือออนไลน์  ทุกวันนี้อะไร ๆ มันก็ 4 G  10 G ร้อยจี  พันจี  ไปหมดแล้ว 

หาที่เรียนง่าย  เลือกที่เรียน  เลือกราคาง่าย  เลือกครูได้อีก  


ทำไมถึงต้องลงเรียน 


เพราะการอ่านอย่างเดียวสำหรับคนกล้าๆ กลัว ๆ แล้ว การลงมือทำสักทีดูจะยากมาก

ศึกษาตำรารู้และเข้าใจทุกอย่าง  แต่พอเริ่มจะเขียนกลับสมองตื้อ  สมองตัน คิดไม่ออกซะงั้น


แล้วก็ไปโทษอารมณ์  ว่าไม่มีอารมณ์  โทษเวลา  ไม่มีเวลาบ้างล่ะ  โทษสถานที่  ไม่มีสมาธิบ้างล่ะ  

ลูกหลานกวนบ้างหล่ะ  เสียงแว๊นซ์ผ่าซอยดังบ้างล่ะ  ความคิดแบบนี้แม่ก็ ผ่านมาแล้วลูก ฮ่าๆ


ที่แนะนำลงเรียนเพราะเราจะได้มีกลุ่มที่สนใจเหมือนกัน  

เมื่อเรียนด้วยกันจะรู้สึกเหมือนคนที่ร่วมทางเดียวกัน  มีเพื่อนเสนอแนวคิด 

เห็นเพื่อนทำเราจะเกิดแรงบันดาลใจ แบบอาศัยพวกมากจะลากเราไป  

เราจะอยากเขียน  เราจะอยากไขว่คว้ามันตลอดเวลา  พอจังหวะมามันจะเริ่มขึ้นเอง  แล้วยาวๆไป

ความมั่นใจจะมากมีกว่าไปเรียนเองคนเดียวจ้า  


เราจะมองข้ามความเก่งไม่เก่ง และความกลัวทำออกมาไม่ได้  ไม่มีคนอ่าน

ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ไปเลยล่ะ  พอเราลืมเราจะรั้นทำแค่ว่าฉันจะทำ  ดีไม่ดีเอาไว้ก่อน  

ขอทำให้สำเร็จ


พอเรื่องแรก  บทความแรกผ่านไปได้  วิชามันจะร้อนโหมขึ้นมาเลยล่ะ 

อย่าหายจากกลุ่ม ไปรับแรงใจ  แบ่งปันประสบการณ์กันบ่อย ๆ  และต้องเขียนนะคะ


ต้องเขียน  ทันที! ✌


แล้วค่าเรียนล่ะแพงมั้ย  คุ้มเหรอแม่

        แพงไม่แพงอยูที่ความพอใจ  มีตั้งแต่หลักร้อยถึงพัน สองพัน สามพัน ก็ดูที่ว่าครูที่เปิดคอร์สสอน

สอนหัวหัวอะไรบ้าง ตรงกับความต้องการเรามั้๊ย  แล้วสอนลักษณะไหนเลือกที่เราสะดวกค่ะ   


ข้อดีของการเข้าเรียนกับครู หรือนักเขียนที่เก่ง ๆ เขาจะมีข้อมูลค้นคว้าด้วย

ข้อมูลนักเขียน  รู้ข้อมูลวงการนักเขียน  และแหล่งการรับงานด้วย  

เผื่อใครอยากหารรายได้จากการเขียนด้วยจ้า  หรือถ้าใครยังไม่พร้อมเรียนก็แวะมาอ่าน

หาข้อมูลกันแถวๆนี้ก่อนนะคะ เผื่อจะมีไอเดียทำให้อยากลองไปพลางๆ ก่อน


ไม่เขียนยาวมาก  เดี๋ยวพรุ่งนี้มาเริ่มเขียนกันเลยค่ะ     




วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ฝึกอ่านแจกฟรีจ้า ชุดที่ 5


โพสขัดตาทัพ 😁😁😁😁😁😁

แจกฟรีเพื่ออนาคตของชาติ  ชุดที่ 6  เดี๋ยวทยอยลงตามมานะคะ

ชุดที่ 1-4  อยู่แถบข้างบล็อกแล้วนะคะ

ตอนนี้กำลังเขียนการเริ่มต้นการเขียนอยู่นะคะ  ยังไม่เสร็จ รอน้าตัวเอง  😘





คลิก

V

V

V

https://online.fliphtml5.com/isdyk/zjqu/ 

วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563

คลิปทำงานคั่นเวลาจ้า

มีแต่เรื่องอยากทำเต็มไปหมด
เดี๋ยวจะต้องลงวิธีทำ อีบุ๊คบ้าง  เผื่อจะมีใครอยากทำนะคะ
หรือใครชำนาญ มีประสบการณ์ดีๆ  ก็แนะนำบ้างนะคะ  

 

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การทำหนังสือเล่มเล็ก ต้องมีทักษะ หรือความรู้อะไรบ้าง


การทำหนังสือเล่มเล็ก  ต้องมีทักษะ หรือความรู้อะไรบ้าง

                    หนังสือเล่มเล็ก ก็เหมือนๆ หรือคล้ายๆ หนังสือทำมือค่ะ  เป็นหนังสือที่ทำได้ครั้งละน้อยเล่ม คำว่าหนังสือเล่มเล็กมักใช้ในวงการการศึกษา  หรือเป็นเครื่องมือสื่อการสอนที่ใช้กับนักเรียน เน้นเนื้อหาเรื่องราวไปทางบันเทิงคดี  ให้ข้อคิด 

                    การจัดทำหนังสือเล่มเล็กนั้นเป็นที่นิยมแพร่หลายในโรงเรียน นอกจากจัดทำเป็นสื่อการเรียนการสอนส่งเสริมการอ่าน   การมอบหมายให้ทำเป็นชิ้นงานสรุปการค้นคว้า หรือบันทึกข้อมูลการเรียนต่างๆ ก็มี  และมีการจัดให้มีการแข่งขันตั้งแต่กลุ่มเล็ก ๆ จนถึงระดับประเทศเลยทีเดียว 

                    หนังสือทำมือ  เป็นหนังสือที่ผลิตโดยนักเขียนอิสระทั่วไป  เนื้อหาเรื่องราวที่เขียนค่อนข้างเปิดกว้าง โดยเฉพาะนิยาย  นวนิยาย  คนเขียนสามารถเขียนได้เสรีภายใต้ขอบเขตของข้อกำหนดทางกฏหมายในการเผยแพร่ข้อมูล  ในกรณีนำออกจำหน่าย  เหมือนการทำหนังสือจากสำนักพิมพ์ทุกประการ  เพียงแต่ทุกขั้นตอนคนผลิตดำเนินการเอง เขียนเอง พิมพ์เอง ทำเล่มเอง เป็นบรรณาธิการเอง และอาจขายเองด้วย และคนตัดสินว่าดีหรือไม่คือคนอ่าน  ซึ่งในด้านการโปรโมท  เพื่อให้เกิดความนิยม ย่อมแตกต่างจากหนังสือของสำนักพิมพ์แน่นอนค่ะ

                    แต่ทุกวันนี้ช่องทางการโปรโมทมีหลายช่องทางมาก  บางคนสามารถโปรโมทผลงานตนเองได้ง่ายขึ้น  ก็มีไม่น้อยที่นักเขียนอิสระบางคนก็เพียงอยากทำงานเขียนขึ้นสักชิ้นเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก  หรือให้เป็นของขวัญล้ำค่าแก่ใครสักคนเป็นส่วนตัว  ไม่ได้เพื่อหารายได้อะไร  ก็เป็นเรื่องส่วนตัวแล้วแต่ความพอใจของเรา


ประโยชน์ได้จากการทำหนังสือเล่มเล็ก

                    เราจะพูดถึงการทำหนังสือเล่มเล็กในโรงเรียนก่อนนะคะ  เพราะหากสามารถเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่กันได้ก็จะเป็นประโยชน์แก่เหล่านักเขียนน้อย ๆ ในอนาคตได้พอสมควร  ประโยชน์มีมากมายหลายอย่างแน่นอนค่ะ  อาทิ เช่น

การส่งเสริมทักษะในการอ่าน การเขียน และความคิดสร้างสรรค์

เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เห็นคุณค่า มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการทำหนังสือ รวมทั้งสร้างทัศนคติที่ดีต่ออาชีพนักเขียน

เพื่อผ่อนคลาย  เพื่อความจรรโลงใจ 

                    

                    หนังสือเล่มเล็กจะเน้นเพื่อเป็นหนังสือสําหรับเด็กและเยาวชน โดยเนื้อเรื่องนั้นให้สอดคล้องกับวัย  และต้องช่วยส่งเสริมการอ่าน ให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านโดยเน้นบันเทิงคดี มีข้อคิด

ดีที่สุดคือหนังสือที่เด็กได้มีโอกาส ทำเองหลังจากได้รับความรู้และวิธีการไปแล้ว


การทำหนังสือเล่มเล็ก  ต้องมีทักษะ หรือความรู้อะไรบ้าง

 

ความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมสําหรับเด็กและเยาวชน  ควรเป็นนักอ่านบ้าง เพื่อจะได้มีคลังคำ หรือเรื่องราว ๆ ต่าง ๆ จากประสบการณ์ วัตถุดิบในการเขียนแต่งเติมเรื่องราว

ทักษะการอ่าน การเขียน การเขียนที่เป็นงานศิลปะ หรือเป็นงานที่นักเรียนแข่งขัน  อาจต้องมีการใช้ลายมือจริง  เขียนสด  ดังนั้นลายมือควรสวย  ลายเส้นมั่นคง สะอาด  ถ้าเป็นงานนำเสนอที่อาจพิมพ์โดยคอมพิวเตอร์ได้ก็ควรเน้นทักษะการเขียนแต่ง  ดำเนินเรื่องให้น่าอ่าน น่าติดตาม 

การจัดทําภาพประกอบ  และรูปเล่ม ก็ควรวาดรูปได้บ้างในกรณีที่ใช้วิธีการทำภาพประกอบประเภทวาด  โดยเฉพาะการเข้าแข่งขันของนักเรียนต้องใช้ทักษะวิชาศิลปะมากพอสมควร

 ทักษะการวัด การคำนวณ กรณีทำปกประกอบเล่ม

 ทักษะการทำงานทีม  กรณีทำเป็นทีม

ความอดทน  เพราะใช้เวลาในการทำนานพอสมควร  อาจหลายวัน  ในกรณีแข่งขันอาจใช้เวลาจำกัดไม่เกิน 1 วัน แล้วแต่หน่วยงานที่จัด

 

 ความจริงก็.. ทักษะทุกอย่างมันฝึกได้ ชำนาญได้  ขอแค่เริ่มทำ

ข้อแรกที่พึงมีที่สุด  คือ  ทำค่ะ ต้องทำ  ถ้ารักแล้วอยากเป็น ต้องทำทันที


วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ทำด้วยมือสื่อด้วยใจ ชิ้นเดียวในโลก

ทำด้วยมือสื่อด้วยใจ ชิ้นเดียวในโลก



    
       งานแฮนด์เมด คืออะไร โดยทั่ว ๆ ไป  เรามักรู้จักกันดีว่า คืองานศิลปะชนิดหนึ่งที่เกิดจากการคิด สร้างสรรค์ และประดิษฐ์คิดค้นออกมาเป็นชิ้นงาน  โดยใช้เครื่องจักร หรือเครื่องทุ่นแรงน้อยมาก หรือแทบไม่ใช้เลยในงานบางชิ้นบางประเภท   ง่าย ๆ คือ แรงคนล้วน ๆ  นั่นเอง เช่น

อย่างเราต้องการทำกระเป๋าผ้าสักใบ  เราออกแบบเอง  ใช้อุปกรณ์อย่างง่ายเพียงเข็มกับด้าย กรรไกร  ในการตัดเย็บ ทั้งยังอาจลงมือปัก หรือเพ้นท์สีไปทีละจุด ไม่ใช่การพิมพ์อย่างโรงพิมพ์ที่ตั้งค่าเอาไว้แล้วปั๊มมาเป็นโหล ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว  งานแต่ละชิ้นจึงต้องใช้เวลาในการทำนานมาก  กว่าจะเสร็จสวย พอใจ สักหนึ่งชิ้นพร้อมกับความภูมิใจ    

           งานแฮนด์เมด หรืองานที่ทำด้วยมือ จึงไม่มีมาตรฐานความเท่ากันตามตารางวัด  ขนาด และรูปร่าง   แต่ละชิ้นจึงมีเอกลักษณ์ ที่โดดเด่นและแตกต่างกันออกไป ตามแต่ผู้คิดจะคิดค้นประดิษฐ์จะใส่รายละเอียดลงไป ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง รูปทรง ขนาด 

          เพราะกล้ามเนื้อมือและประสาทสายตาของคนไม่ได้ตั้งค่าของรูปร่าง และขนาดของชิ้นงานเอาไว้ อย่างคอมพิวเตอร์ในเครื่องจักร  แม้แต่การออกแบบออกแบบเองใช้แรงพลังสมองเป็นอย่างมาก แต่สามารถผลิตซ้ำได้ครั้งละน้อยชิ้น  

        งานศิลปะทำมือจึงมักค่อนข้างมีราคา   เพราะอย่างนี้แล้ว คนที่รักศิลปะงานแฮนด์เมดทุกประเภท ย่อมเข้าใจในความหมายของธรรมชาติของชิ้นงานดีว่า  ย่อมมีความไม่ตายตัวในรูปแบบ รูปร่าง รูปทรง และความมีมาตรฐานทุกตารางวัด  และอาจมีผิดเพี้ยน แปลกออกไป ไม่มากก็น้อย 

        แต่หากคนทำใส่ใจในรายละเอียดมาก และมีความชำนาญ  ชิ้นงานย่อมมีมาตรฐานในระดับหนึ่ง  และชิ้นงานอาจคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อย 
                
        ในทางกลับกัน งานที่ทำด้วยมืออาจไม่ได้มีเสน่ห์เพียงแค่ความสวยเนี้ยบของชิ้นงาน  บางชิ้นอาจมีเสน่ห์จับใจมากในรูปแบบที่แปลกตา ไม่ซ้ำซาก ทำยาก น่าทึ่ง  

        งานแฮนด์เมดจึงเป็นงานศิลปะประดิษฐ์ที่ไม่ตายตัว จึงบอกไม่ได้ว่าชิ้นไหนสวยที่สุด เจ๋งที่สุด เพราะความชอบจะถูกตัดสินโดยกลุ่มหนึ่ง หรือ คนอีกคนหนึ่งเพียงลำพัง ที่ลงความเห็นด้วยรู้สึกภายในว่า  ชิ้นงานแบบใดจะเป็นหนึ่งในใจ
                
        อย่างไรก็ตาม งานแฮนด์เมดแทบทุกประเภท ย่อมมีเสน่ห์ในตัวเอง ชวนหลงใหล ในกลิ่นไอความอบอุ่น แบบธรรมชาติ  ทั้งผู้พบทึ่งความสามารถของคนทำ 

        ในขณะที่คนทำรักและภูมิใจไปก่อนแล้ว ..ใครก็ทำได้  หากไม่ถนัดที่จะทำอะไรสักชิ้น แค่ใจรักชื่นชม ได้สะสมก็เป็นสุข.....จริงมั๊ย

                  

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563

บล็อกพัฒนาหรือเปลี่ยนไปนะเนี่ย



เดิมจากการที่บล็อกนั้นได้นำเสนอวิธีการทำหนังสือเล่มเล็ก

ก็ด้วยความตั้งใจที่อยากจะทำข้อมูลและวิธีการทำเก็บไว้ใช้และแบ่งปัน

.

เพราะเวลาเมื่อเวลามีการฝึกซ้อมในการทำเพื่อการแข่งขันในแต่ละปีทีไร  เราท่านก็มักลืมกันได้  พอเราจะใช้ข้อมูลทีไรมันก็หาไม่เจอ  หรือกว่าจะเจอก็ใช้เวลาโขอยู่  

แถมการจดในกระดาษบางทีหนาเตอะมาก  ลำบากต่อการพกพาไปไหนมาไหนด้วย

ในกรณีบางครั้งเราต้องการข้อมูลด่วน ๆ แต่ไม่ได้อยู่ที่บ้านด้วยค่ะ

.

ด้วยที่นานมาแล้วการใช้เน็ตแต่ละครั้งค่อนข้างลำบาก  ทั้งความแรงของเน็ตเองไม่ค่อยเสถียร   กอรปกับงานยุ่งๆ ก็หยุดทำไปพักหนึ่ง

รูปแบบฟังก์ชั่นของบล็อกหรือกลุ่มเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์คต่าง ๆ ก็ไม่ได้พัฒนามากเหมือนเช่นวันนี้  ทำให้เหนื่อยและท้อเหมือนกัน เพราะมันค่อนข้างเสียเวลา ไม่ค่อยได้ดั่งใจ

.

เมื่ออุปกรณ์มันดีมีความคล่องตัวการทำอะไรมันก็ดูเหมือนง่ายและรวดเร็วขึ้น

.

พอมาจับอีกครั้ง รูปแบบเนื้อหาของบล็อคก็อาจจะเปลี่ยนไปจากเดิมบ้างให้ทันยุคทันสมัย  เพิ่มงานการเขียนมากขึ้นกว่าการทำรูปเล่มเพียงอย่างเดียว

.

และที่สำคัญคือ เรื่องรายได้  เพื่อให้บล็อกเกอร์ต่างๆ ได้มีแรงใจ  และกำลังทรัพย์สำหรับการสนับสนุนอุปกรณ์บางอย่าง

เพื่อให้การพัฒนาบล็อกน่าสนใจ น่าติดตามและสร้างคุณค่าได้มากขึ้น

.

อย่างไรก็ตาม  เนื้อหาส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นเรื่องของการเขียน  การทำหนังสือ 

การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ  งานประดิษฐ์ ซึ่งในส่วนตัวที่แอ๊ดมินรักและชอบสิ่งเหล่านี้

.

และมีทั้งข้อมูลแจกฟรี อยากแบ่งปัน  และอาจมีบางอย่างวางจำหน่าย เพื่อสร้างน้ำหล่อเลี้ยงให้บล็อกยังคงอยู่ได้ และยืนยันว่าไม่ได้ยัดเยียดความจำเป็นในการจ่ายทุนทรัพย์ใดใดแก่ผู้ติดตาม

อยู่ที่ความพอใจค่ะ

.

ทั้งนี้บล็อคนี้จะยังเป็นบล็อคแบบพื้น ๆ อยู่ยังไม่มีความคิดเรื่องการจดโดเมนเนมตอนนี้แต่อย่างใดค่ะ

รอจังหวะเวลา และความเป็นไปได้ตามกำลังค่ะ  ขอบคุณที่ถามกันมานะคะ

.

ฝากผลงานต่าง ๆ เป็นกำลังใจ  ให้คำแนะนำกันมาได้นะคะ  เพื่อการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามค่ะ


ปัญจภัค. 

วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2563

E-Book คำพื้นฐานป.3



ไปตามนี้ลิ้งค์นี้เลยค่า ถ้าไม่โหลดปริ้นซ์เป็นใบงาน ก็เอาไว้อ่านออนไลน์จะได้ไม่หนักเครื่องจ้า


ช้างน้อยชอบคนพูดเพราะ